วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นพลเมืองโลก


บทที่ 1 ความเป็นพลเมืองโลก

สถาบันทางสังคม


ความหมายของสถาบันทางสังคม
หมายถึง แบบอย่างพฤติกรรมที่ตั้งขึ้นและปฏิบัติสืบต่อกันมาและเป็นที่ยอมรับในสังคม ประเพณีต่าง ๆ สถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา
มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
1. บุคคล คือ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หมายถึงบุคคลที่ได้จัดระเบียบแล้ว เช่น มีสถานภาพ มีบทบาท มีการควบคุมทางสังคม มีการจัดระเบียบสังคมและมีค่านิยม
2. หน้าที่ของสถาบันทางสังคม คือ วัตถุประสงค์ในการสนองความต้องการของสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ หรือ พฤติกรรม คือ กฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติของสมาชิกในสังคม
ประเภทของสถาบันทางสังคม
สถาบันครอบครัว
1. องค์การทางสังคม แบ่งออกเป้น 2 ประเภท คือ
1.1 ครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก
1.2 ครอบครัวขยาย คือ ครอบครัวขนาดใหญ่ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกและญาติ ๆ
2. หน้าที่ สร้างสรรค์สมาชิกใหม่ เลี้ยงดูผู้เยาว์ ให้ความรักความอบอุ่น อบรมสั่งสอนและกำหนดสถานภาพทางสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ คือ ให้แนวทางในการปฏิบัติต่อกันในครอบครัว
สถาบันการศึกษา ทำหน้าที่ ถ่ายทอดความรู้ ความคิดให้แก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้า รู้จักในการแก้ปัญหาด้วยหลักและวิธีการอันเหมาะสม
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ กลุ่มคนที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สภาการศึกษา กลุ่มครู อาจารย์
2. หน้าที่ ของสถาบันการศึกษา
2.1 การพัฒนาคน
2.2 การให้ความรู้ ความเข้าใจ และความสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
2.3 การสอน และการส่งเสริมในด้านวิชาชีพและศิลปวัฒนธรรม
2.4 จัดแหล่งความรู้และวิทยาการที่อำนวยความสะดวกต่อสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ คือ การจัดการเกี่ยวกับการศึกษา และการวางมาตราฐานการศึกษา
สถาบันศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 ประการ คือ ความเชื่อ การแสดงออก ความรู้สึกทางอารมณ์
องค์ประกอบของสถาบันศาสนา
1. องค์การทางสังคม เช่น กลุ่มเจ้าอาวาส กลุ่มพระ กลุ่มชี กลุ่มบาทหลวง
2. หน้าที่ของสถาบันทางการศาสนา
- การให้การอบรมสั่งสอน
- การปกป้อง คุ้มครอง
- การรักษากฎ ศีลธรรมของสังคม
- การขัดเกลาพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติตามบทบัญญัติ หลักธรรม ประเพณี
สถาบันเศรษฐกิจ เป็นสถาบันเกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษย์ในการดำรงชีวิตในสังคม
องค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจ
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานในธนาคาร บริษัท ห้างร้าน โรงงาน
2. หน้าที่ของสถาบันทางเศรษฐกิจ
- สนองความต้องการทางเศรษฐกิจ
- จัดอำนวยความสะดวกในทางเศรษฐกิจ
- พัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
- ช่วยเหลือเกื้อกูลให้มีการบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง
3. แบบแผนการปฏิบัติ ได้แก่ การจัดระบบทรัพย์ มีเงื่อนไขสัญญา การอาชีพ การแลกเปลี่ยนและการตลาด
สถาบันทางการเมืองการปกครอง
องค์ประกอบของสถาบันการเมืองการปกครอง
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ และรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎร
2. หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง
- รักษาความสงบเรียบร้อย
- ระงับข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล
- คุ้มครองบุคคลให้ได้รับความปลอดภัย
3. แบบแผนการปฏิบัติ ได้แก่ การจัดให้มีกฎหมายต่าง ๆ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์



บทที่ 2 การพึ่งพาอาศัยกัน



            การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ได้แก่ ความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันของผู้คน ถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจสภาวการณ์ในระดับโลก สามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับความซับซ้อนได้

การพึ่งพากัน 

            การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆในด้านการรวมตัวเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ เนื่องมาจากความมั่นคงและสวัสดิการของประเทศ ซึ่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นภาคธุรกิจหรือ ผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้น เมื่อกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ย่อมทำให้ สินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการค้า มักจะถือกันว่าเป็นรูปแบบ ของกระบวนการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนของการค้าต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวมากขึ้นย่อมหมายถึงประเทศนั้น มีการพึ่งพิงระบบการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศต้องอาศัยการพึ่งพากันทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ 



             ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในองค์กรได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้ เช่น ความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว และได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในด้าน การพึ่งพาอาศัยกัน เช่น แต่ละประเทศจะผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่ประเทศตนเอง สามารถผลิตได้ กล่าวคือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและ มาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแต่ละประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย ดังนั้นการพึ่งพาอาศัยกันในรูปของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และองค์กรที่มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองทางการค้ากับประเทศต่างๆได้

การอยู่ร่วมกันในสังคม            การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

            ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี


            ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ


สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น


            จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ 


ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"


            ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน


บทที่ 3 ความขัดแย้งและการแก้ปัญหา


บทนำ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ด้วยเหตุผลสำคัญคือ
ประการแรก ความจำเป็นที่ต้องรักษาตัวรอด รวมพละกำลังต่อสู้กับเผ่าพันธุ์อื่นที่อาจจะมาทำลายเผ่าพันธุ์ของตน
ประการต่อมา มีความจำเป็นต้องรวมกำลังเข้าทำงานที่ใช้กำลังของคนเพียงคนเดียวหรือจำนวนน้อยทำไม่ได้ เช่น การล่าสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร ล่ากวาง ล่าวัวกระทิง ล่าปลาวาฬ นอกจากนั้นการก่อสร้างในชุมชน เช่น สะพานข้ามแม่น้ำ กำแพง หรือรั้วป้องกันสัตว์ร้าย หรือมนุษย์ต่างเผ่า แม้กระทั่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ก็ต้องใช้ความร่วมมือจากคนกลุ่มใหญ่
ประการสุดท้าย มีความจำเป็นทางจิตวิทยาที่มนุษย์จะต้องอยู่รวมกันเพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เนื่องจากการเป็นสัตว์สังคมก็คือต้องการหาเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่เป็นชุมชน เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน เป็นเครือญาติ เป็นครอบครัว
แต่เมื่อมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่มในลักษณะของสัตว์สังคม และท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งในสังคมมนุษย์แยกแยะได้ 4 ประการใหญ่ๆ คือ
1. ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากการแบ่งอาหารที่ได้จากการไล่ล่า ใครควรจะได้สัดส่วนเท่าไหร่ มากน้อยเพียงใด จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นก็มักจะตัดสินกันโดยใช้พละกำลัง ผู้แข็งแรงที่สุดจะได้จำนวนอาหารมากที่สุด
2. ความขัดแย้งในแง่ของสถานะทางสังคม ในสังคมมนุษย์จะมีความแตกต่างกันในเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี ผู้ซึ่งอยู่ในฐานะได้เปรียบก็จะตั้งตนเองเป็นผู้อยู่ในฐานะสูงกว่า มีโอกาสได้อาศัยอยู่ในถ้ำที่ใหญ่โตกว่าและสะดวกสบายกว่า เป็นต้น
3. ความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจ ใครเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการกับทรัพยากร ใครเป็นผู้มีอำนาจในการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา อันนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
4. นอกจาก 3 ประการดังกล่าวแล้ว ก็อาจมีความขัดแย้งในเรื่องของนามธรรม เช่น ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ปล่อยต้นไม้ใหญ่ไว้หน้าปากถ้ำเพราะมีร่มเงาและความสวยงาม อีกฝ่ายหนึ่งต้องการตัดทิ้งเพื่อจะได้รับแสงแดดมากกว่าเดิม ความขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งในทางนามธรรมและค่านิยม แต่ก็อาจจะมีความสำคัญพอๆ กับความขัดแย้งใน 3 ประการแรก หรือในบางกรณีอาจจะมีความสำคัญมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นต้องมีการหาข้อยุติ ซึ่งในเบื้องต้นก็อาจจะใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน ฝ่ายชนะก็จะเป็นผู้กุมอำนาจและเริ่มจัดกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับตัวแปร 4 ตัวที่กล่าวมาเบื้องต้น กลุ่มบุคคลซึ่งส่วนใหญ่จะมีหัวหน้าที่แข็งแรงที่สุดซึ่งเป็นผู้นำนั้นจะเป็นคณะบุคคลที่จัดระเบียบสังคมขึ้น อันรวมไปถึงการจัดแจงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม การแจกแจงเรื่องอำนาจ รวมตลอดทั้งการกำหนดค่านิยมที่สมาชิกทุกคนจะถือตาม ทันทีที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นั่นคือ การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า รัฐ (state) รัฐคือระเบียบการเมือง (political order) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเสาหลักของการอยู่ร่วมกันในชุมชนมนุษย์
วิวัฒนาการจากมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมและอยู่รวมกันเป็นสังคม จนนำมาสู่การเป็นรัฐนี้เป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน รัฐโดยมีผู้ใช้อำนาจรัฐที่ปัจจุบันเรียกว่า รัฐบาล ได้แก่ คณะบุคคลซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคนทั่วๆ ไปจะทำหน้าที่ในการตั้งกฎระเบียบด้วยการออกกฎหมาย โดยมีสภาพบังคับสำหรับผู้ละเมิด มีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับคนในสังคม การจัดระเบียบเช่นนี้คือการก่อตั้งระเบียบทางการเมือง ดังนั้น รัฐในแง่ของนามธรรมก็คือระเบียบของการเมืองที่ชุมชนยอมรับมาใช้เป็นกลไกเพื่อการอยู่ร่วมกัน เอื้ออำนวยต่อกัน
การได้มาซึ่งอำนาจรัฐจะต้องมีความชอบธรรม (legitimacy) หมายความว่า เป็นที่ยอมรับของคนที่อยู่ในชุมชนภายใต้ระเบียบการเมืองนั้นๆ ความชอบธรรมอาจเกิดจากการใช้กำลังในเบื้องต้น ความชอบธรรมในส่วนนี้มีพื้นฐานมาจากความกลัว จนถึงจุดๆ หนึ่งก็อาจจะกลายเป็นประเพณี เช่น การสืบทอดอำนาจจากพ่อไปสู่ลูก จากลูกไปสู่หลาน ซึ่งแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เรียกว่า traditional authority นอกจากที่กล่าวมาก็มีความชอบธรรมที่ถือว่าสอดคล้องกับกฎหมายและความมีเหตุมีผล (legal-rational authority) เช่นภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีกฎกติกาของการได้มาซึ่งอำนาจ เหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ปกครองต้องผ่านการเลือกตั้งโดยผู้อยู่ใต้ปกครอง เท่ากับการได้อาณัติจากประชาชน ดังนั้นผู้ซึ่งชนะการเลือกตั้งก็จะมีความ ชอบธรรมตามกฎหมายและความมีเหตุมีผล
ความชอบธรรมในส่วนที่สามของอำนาจจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลซึ่งคนทั่วไปเชื่อว่ามีบุญญาธิการที่จะมาแก้ปัญหาสังคม บุคคลดังกล่าวนี้บางครั้งถูกเรียกว่า “อัศวินม้าขาว” มักจะปรากฏขึ้นเมื่ออำนาจจากประเพณี กฎหมายและความมีเหตุมีผลล่มสลาย กล่าวคือ ความชอบธรรมที่มาจากสิ่งที่เป็นนามธรรม ประเพณีที่สืบทอดหรือกฎหมาย และความมีเหตุมีผลในลักษณะนามธรรมนั้นมาอยู่ที่ตัวบุคคลที่มองเห็นได้อย่างชัดแจ้ง แต่ขณะเดียวกันบุคคลนั้นก็มีคุณลักษณะที่เป็นนามธรรม คือความเชื่อของประชาชนที่เชื่อว่าบุคคลผู้นั้นสามารถแก้ไขปัญหาและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ (charismatic leader) ซึ่งมีอำนาจจาก charismatic authority
ตราบเท่าที่ระเบียบการเมือง รัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐยังคงไว้ซึ่งความชอบธรรมบนฐานใดฐานหนึ่งที่กล่าวมาเบื้องต้น สังคมนั้นก็สามารถจะดำเนินไปได้โดยปกติสุขในระดับหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่ระบบสังคมอันได้แก่องค์กรต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นภายใต้ระเบียบการเมือง เช่น ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง ระบบการบริหาร ระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ องค์กรศาสนา และองค์กรอื่นๆ ขาดการยอมรับและเสียความชอบธรรมเนื่องจากความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นรุนแรงถึงจุดที่องค์กรต่างๆ ดังกล่าวไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ ก็จะนำไปสู่วิกฤตในทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหา

ที่มาของความขัดแย้งในสังคม

ความขัดแย้งในสังคมมีสาเหตุและมีลักษณะอย่างที่กล่าวมาเบื้องต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีข้อสังเกตว่า สังคมทุกสังคมย่อมหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ ความขัดแย้งในสังคมจึงเป็นเรื่องปกติ เป็นแต่เพียงว่าความขัดแย้งดังกล่าวยังสามารถหาข้อยุติได้ในกรอบของกลไกที่มีอยู่สังคมนั้นก็สามารถดำเนินต่อไป หรือตราบเท่าที่ปัญหาความขัดแย้งอยู่ในสัดส่วนที่ไม่แผ่กระจายไปทั่วทั้งสังคมจนหาวิธีการหรือกลไกเพื่อยุติความขัดแย้งไม่ได้สังคมนั้นก็สามารถดำเนินต่อไป โดยในภาพรวมจะถือได้ว่าสังคมนั้นยังอยู่ได้อย่างมีความสมานฉันท์ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งถึงจุดที่ไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้ ทางเลือกของสังคมก็จะถูกจำกัดลง โดยมีทางออกอยู่สองทางคือ การพยายามแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี ด้วยการเจรจาหรือไกล่เกลี่ย หรือมิฉะนั้นก็คงต้องแก้ไขความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังหรือความรุนแรง ผลที่ออกมาก็คือ การที่ฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ ผู้ชนะก็จะสร้างระเบียบการเมืองขึ้นมาใหม่ และถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถจะเอาชนะกันได้ก็อาจจะถึงกับแตกแยกออกเป็น 2 ส่วน หรือ 3 ส่วน ของหน่วยชุมชนหรือหน่วยการเมืองใหม่แล้วแต่กรณี
ปรากฏการณ์ที่เกริ่นมาเบื้องต้นสามารถจะข้าใจแจ่มชัดยิ่งขึ้นถ้ามองในรูปของความเป็นจริงอย่างวัตถุวิสัยของธรรมชาติมนุษย์และสังคมมนุษย์ ในแง่หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่ามนุษย์หรือสัตว์ประเสริฐนั้นก็คือสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง ในความเป็นจริง มนุษย์และสัตว์ก็คือชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่มีความคล้ายคลึงกันทุกอย่าง มนุษย์จะต่างจากสัตว์ก็ตรงที่มีสมองที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า มีความจำที่ยาวนานกว่า มีกล่องเสียงที่สามารถสร้างเสียงได้มากกว่าเพื่อใช้ในการสื่อสาร และที่สำคัญมีนิ้ว 5 นิ้วที่ใช้ประโยชน์อย่างมากในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น เครื่องไม้เครื่องมือ อาวุธ รวมทั้งงานศิลปะ การก่อสร้าง ฯลฯ สองมือพร้อมด้วยสิบนิ้วของมนุษย์บวกกับสมองที่มีความฉลาดเฉียบแหลมทำให้มนุษย์มีคุณภาพเหนือกว่าสัตว์อย่างมาก
แต่ถ้าจัดมนุษย์เข้าสู่สภาพธรรมชาติ (the state of nature) มนุษย์ก็คือสัตว์ดีๆ นี่เอง จุดหลักก็คือการแย่งอาหารและก็แย่งเพศตรงกันข้ามเพื่อการสมสู่ตามธรรมชาติอันเป็นลักษณะทั่วไปของสัตว์ แต่มนุษย์มีความก้าวหน้ากว่าสัตว์ในแง่ต้องการสิ่งที่ไกลเกินกว่าสองสิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้น นั่นคือ ต้องการอำนาจและสถานะมากกว่าสัตว์ ในส่วนนี้เป็นส่วนของนามธรรมซึ่งสัตว์ก็มีอยู่แต่น้อยกว่ามนุษย์มาก ที่สำคัญ มนุษย์มีความชาญฉลาดพอที่จะรู้ว่าการจะอยู่ร่วมกันโดยสันติและเอื้อประโยชน์ต่อกันนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการสร้างกลไกเพื่อจะแก้ไขความขัดแย้งและอยู่ร่วมกันโดยสันติ เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยการสถาปนาขนบธรรมเนียมประเพณี และต่อมาก็ทำให้เกิดความมั่นคงด้วยการทำให้เป็นตัวบทกฎหมายโดยมีผลบังคับใช้ เช่น ประเพณีการสู่ขอสตรีเพื่อมาเป็นคู่ครองโดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าทำการฉุดสมาชิกของครอบครัวอื่น มีการสร้างกฎกติกาของความสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อการสื่อสารของชุมชนโดยมีการสร้างภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษากาย กิริยามารยาท วัฒนธรรม การได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การควบคุมผู้ใช้อำนาจรัฐ การจัดสรรทรัพยากรที่ดินทำกินและทรัพยากรอื่นๆ ของชุมชนเพื่อทุกฝ่ายสามารถจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ฯลฯ
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือการจัดระเบียบการเมือง ถ้าจะเรียกรวมๆ ก็อาจจะใช้คำว่า วัฒนธรรม (culture) เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงมีความสามารถข้ามจากสภาพธรรมชาติ (the state of nature) มาสู่ the state of culture ได้ในที่สุด สังคมมนุษย์จึงสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ มีความขัดแย้งน้อยที่สุด หรือถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็มีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นได้
แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด the state of culture จะต้องเป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรม โดยมนุษย์ที่เป็นสมาชิกของชุมชนทุกคนยอมรับสภาพของ the state of culture นั้น เช่น ประเด็นในเรื่องผลประโยชน์ที่ลงตัว ประเด็นในเรื่องอำนาจที่เป็นที่ยอมรับ ประเด็นในเรื่องความเป็นธรรมของสังคม ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในกระบวนการกฎหมายและศาล และการยอมรับมาตรการ กระบวนการของการแก้ไขความขัดแย้ง เช่น ความขัดแย้งเรื่องที่ทำกินก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประนีประนอมยอมความ เจรจาไกล่เกลี่ย จนเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและทุกฝ่ายพอใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ไม่สามารถจะยอมรับ the state of culture ได้อีกต่อไป เพราะระบบและกลไกดังกล่าวไม่สามารถจะแก้ไขความขัดแย้งได้ มนุษย์ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันนั้นก็อาจจะข้ามแดนจาก the state of culture ไปสู่ state of nature นั่นคือการใช้พละกำลังและความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา และอาจจะลงเอยด้วยการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางกาย หรือสูญเสียทรัพย์สิน ความขัดแย้งอาจจะยุติลง แต่ในบางกรณีก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และกรณีที่เลวที่สุดก็คือ การใช้กำลังรุนแรงที่ดำเนินต่อยาวนานเป็นปีๆ เช่นในกรณีสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ของสหรัฐอเมริกา ของสเปน ของจีน เป็นต้น แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือแตกเป็นเสี่ยงๆ ของชุมชนการเมือง หรือหน่วยการเมืองนั้น ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วหลายกรณีในประวัติศาสตร์

สาเหตุของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งมีสาเหตุหลักๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่สาเหตุที่มีการพูดถึงบ่อยๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงค่านิยม (values) และปทัสถาน (norms) หมายความว่า ในสังคมซึ่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นอาจจะไม่สามารถคงสภาพของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นอยู่ตลอดไป
ก) ในเบื้องต้นคือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากค่านิยมและปทัสถานที่ต่างกันของคนต่างรุ่นหรือต่างวัย ที่เห็นได้บ่อยครั้งคือระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นเก่าซึ่งอาจจะมีประสบการณ์พิเศษ ผ่านการต่อสู้ในทางการเมือง รวมทั้งในการทำสงคราม ในการกู้ชาติ ในการกู้เศรษฐกิจ จนนำความสงบสุขมาสู่สังคม บุคคลกลุ่มนี้ย่อมมีค่านิยมและปทัสถานที่ตนมีความเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งซึ่งถูกต้องและควรดำเนินต่อไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นซึ่งมีโลกทัศน์ ค่านิยมและปทัสถานต่างจากที่เคยมีมาในอดีต ความลงรอยระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเริ่มจะเป็นประเด็นปัญหา และในทุกสังคมไม่สามารถจะเลี่ยงความขัดแย้งนี้ได้ ซึ่งมักจะออกมาเป็นรูปธรรมในแง่ของพฤติกรรม การแสดงออกในสังคม เริ่มตั้งแต่การแต่งตัว ทรงผม อาหารการกิน การบันเทิง การร้องรำทำเพลง การเต้นรำ บันเทิงต่างๆ เช่น ชนิดของภาพยนตร์ ชนิดของสารคดี ชนิดของรถยนต์ที่ใช้ในการขับขี่ รวมแม้กระทั่งค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัว ศาสนา วัฒนธรรมดั้งเดิม กิริยามารยาท ภาษาพูด ความขัดแย้งในลักษณะนี้ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้เลย แต่จะปรากฏในทุกสังคมตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน[1]
ข) ความขัดแย้งอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม สังคมที่เคยเป็นสังคมเกษตรกรรมเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้น มีการย้ายถิ่นจากชนบทไปสู่แหล่งที่มีการผลิตสินค้าทางอุตสาหกรรม ที่ตั้งของโรงงานและที่พักของคนงานที่อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มีการจัดตั้งเป็นสหภาพ มีการจัดตั้งเป็นชมรม ฯลฯ ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสังคมสองส่วน คือ ส่วนของชนบทที่เป็นภาคเกษตร กับส่วนของชุมชนเมืองซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม สภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ[2]
การเปลี่ยนแปลงในแง่ของประชากร จะมีการย้ายถิ่นจากชนบทเข้ามาสู่ในเมืองมากยิ่งขึ้น รูปแบบการดำรงชีวิตของชนบทและในเมืองต่างกัน ค่านิยมของการอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่ต้องมีความเร่งรีบ ตรงต่อเวลา มีความชาญฉลาดในการแก้ปัญหาส่วนตัว ความสัมพันธ์มนุษย์ที่ค่อนข้างจะไม่เป็นกันเอง ยึดผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ฯลฯ จะทำให้บุคคลที่มีชีวิตอยู่ในเขตเมืองและภาคการผลิตอุตสาหกรรมแตกต่างจากญาติโกโหติกาในหมู่บ้านที่ตนเคยวิ่งเล่นเมื่อตอนเด็ก ความแตกต่างของสังคมสองส่วนนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องค่านิยม ปทัสถาน แบบกระสวนของพฤติกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บุคคลที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ไปศึกษาหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่พัฒนามากกว่า ก็จะประสบปัญหาที่รุนแรงกว่าที่กล่าวมาเบื้องต้นเมื่อกลับมาภูมิลำเนาเดิมของตน
นอกจากนี้ในภาคอุตสาหกรรมจะประกอบด้วยผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต อันได้แก่ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าของกิจการบริการขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างที่กินเงินเดือนจากเจ้าของกิจการ ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เจ้าของกิจการบริการ กับผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างในเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ ความยุติธรรม เกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในแง่ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และจำนวนชั่วโมงของการทำงาน ย่อมจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งในส่วนนี้ คาร์ล มาร์กซ์ ถือว่าเป็นความขัดแย้งของชนชั้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงด้วยการลุกฮือขึ้นปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อล้มอำนาจชนชั้นกระฎุมพี
ค) ความขัดแย้งในสังคมอาจจะเกิดขึ้นกับการไหลเข้ามาของวัฒนธรรมและอารยธรรมของต่างถิ่น เช่น การเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตกในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา การนำความคิดใหม่ๆ เรื่องการปกครองบริหารมาเผยแพร่ให้กับคนพื้นเมือง การนำมาซึ่งสิ่งประดิษฐ์อันเกิดจากวิทยาการสมัยใหม่คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ย่อมจะมีผลกระทบต่อสังคมต่างๆ ที่รับเอาเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้ซึ่งมีศรัทธาในศาสนาอิสลามอาจจะไม่พอใจกับการเข้ามาของบาทหลวงที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ผู้ซึ่งมีความเชื่อมั่นในศาสนาพุทธและลัทธิขงจื้ออาจจะมีแนวโน้มที่ไม่ยอมรับคนนอกรีตศาสนา จนนำไปสู่การต่อต้านบาทหลวงและผู้นับถือศาสนาคริสต์ ในญี่ปุ่น ในจีน ในเกาหลี เป็นต้น การนำเข้ามาซึ่งแพทย์แผนใหม่ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อแพทย์ท้องถิ่นที่เรียกว่า หมอผีถือแซ่หางวัว เพราะการเข้ามานั้นไม่เพียงแต่คุกคามวิชาชีพของคนดั้งเดิม แต่ยังกระทบถึงสถานะทางสังคม การยอมรับในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกด้วย
ง) ความขัดแย้งที่สำคัญก็คือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความขัดแย้งของลัทธิฟาสซิสต์กับคอมมิวนิสต์ และเสรีประชาธิปไตย และหลังจากการพ่ายแพ้ของลัทธิฟาสซิสต์และกลุ่มฟาสซิสต์แล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิเสรีประชาธิปไตย จนนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศที่เรียกว่าสงครามเย็นเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งสงครามร้อนด้วย อันได้แก่ สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอ่าวเปอร์เซีย และสงครามอิรัก
ในแง่การเปลี่ยนแปลงภายในนั้นมีการต่อสู้ระหว่างลัทธิเผด็จการทหารและลัทธิคอมมิวนิสต์ จนเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีน และความขัดแย้งที่ใช้กำลังในประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์นี้ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงและใช้กำลังจนหมิ่นเหม่จะเกิดสงครามปรมาณูที่อาจทำลายล้างผลาญโลกได้ทั้งโลก หรือจะยกตัวอย่างความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางศาสนาซึ่งอาจจะเป็นพระเจ้าองค์เดียวกันแต่ตีความต่างกันก็คือสงครามครูเสดในอดีตที่ทำการรบกันถึง 100 ปี
ทั้งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองและอุดมการณ์ทางศาสนา เป็นความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่สังคมหรือชุมชนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การแบ่งเป็นค่ายในยุคสงครามเย็นเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของผลกระทบที่มาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง ส่วนความขัดแย้งทางศาสนานั้นแซมมูเอล ฮันติงตัน ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Clash of Civilizations ซึ่งหมายถึงการปะทะกันของอารยธรรม อาจตีความได้ว่าอารยธรรมที่ต่างกันอาจจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง อารยธรรมดังกล่าวนี้ตีความได้หลายส่วน ส่วนที่เป็นโลกยุคเก่าที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจจะมีความขัดแย้งต่อต้านกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ดังปรากฏการต่อต้านให้เห็นชัดหลายครั้ง เพราะเชื่อว่าโลกาภิวัตน์จะมีส่วนทำลายสังคมแบบเดิม และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ระหว่างคนรวยและคนจน เนื่องจากความแตกต่างทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันส่งผลโดยตรงกับความแตกต่างทางเศรษฐกิจ แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่าการปะทะกันของอารยธรรมอาจจะอออกมาในรูปของผู้ซึ่งนับถือศาสนาคริสเตียนกับศาสนาอิสลาม หรือถึงแม้ไม่มีลักษณะเช่นนั้นโดยตรงก็จะเห็นได้ชัดว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกซึ่งมีความร่ำรวยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งพันธมิตรของตนกับประเทศในตะวันออกกลางหลายประเทศซึ่งนับถือศาสนาที่ต่างจากประเทศตะวันตก ก็อาจจะเป็นตัวอย่างของการปะทะกันระหว่างอารยธรรมได้ แต่แซมมูเอล เองได้เคยปฏิเสธว่าสิ่งที่เขาพูดถึงมิได้หมายถึงการปะทะกันระหว่างคริสเตียนกับอิสลามในลักษณะสงครามศาสนา
จ) ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมอาจจะเกิดขึ้นระหว่างสังคมต่างเผ่า ต่างเชื้อชาติ เช่น การคืบคลานเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคม ย่อมนำไปสู่การต่อสู้ด้วยพละกำลัง แต่หลังจากที่มีการจัดระเบียบระหว่างเจ้าอาณานิคมหรือเมืองขึ้น สังคมก็อาจจะดำเนินไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และผลสุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของการเรียกร้องเอกราชด้วยการใช้กำลัง และถึงแม้จะได้รับเอกราชแล้วความไม่สามารถที่จะตกลงในเรื่องการจัดสรรอำนาจและตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมอันมีผลมาจากประวัติศาสตร์ รวมทั้งการปกครองโดยลัทธิล่าอาณานิคมก็อาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง และหน่วยการเมืองนั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ ดังตัวอย่างของชมพูทวีปที่แตกเป็นอินเดีย ปากีสถาน และต่อมาคือบังคลาเทศ ตัวอย่างของการแตกหน่วยการเมืองเนื่องจากเกิดการแตกของหน่วยใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตออกมาเป็นหลายประเทศ
ฉ) แต่ความขัดแย้งที่สำคัญในสังคมก็คือ ความขัดแย้งที่ระเบียบการเมืองที่มีอยู่เดิม ที่คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในฐานะเหนือกว่าทั้งในแง่ทรัพย์ศฤงคาร สถานะทางสังคมและอำนาจ (wealth, status and power) โดยคนกลุ่มใหญ่เป็นคนที่อยู่ในชนบท หรือเป็นคนชั้นล่างซึ่งมีความด้อยกว่าคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งอยู่บนยอดปิรามิดในทรัพย์ศฤงคาร สถานะทางสังคมและอำนาจ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจจะประสบปัญหาความขัดแย้งเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้นว่า เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม ซึ่งย่อมส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ ของสังคม เช่น การขยายตัวของการศึกษา ของชุมชนเมือง ของการสื่อสาร ของสื่อมวลชน ที่สำคัญคือ การเกิดองค์กรจัดตั้งที่เป็นสหภาพ การขยายตัวของการคมนาคมและการขนส่ง การรับข่าวสารข้อมูล และการได้รับความรู้โดยอาศัยวิทยาการใหม่ๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งทั้งในทางเศรษฐกิจและทางสังคม สภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้แซมมูเอล ฮันติงตัน กล่าวไว้ว่าเป็นสภาพของ social mobilization ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสมาชิกของสังคมนั้นๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในด้านต่างๆ จะนำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมือง โดยจะมีการเรียกร้องให้มีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศชาติที่ยุติธรรมมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงทางอาตมันทางการเมือง (political self) ของคนในสังคม กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงจากการเป็นประชากรกฎหมาย หรือประชาชนทั่วๆ ไปที่มีสัญชาติประเทศนั้นมาเป็นประชากรทางการเมือง โดยตั้งคำถามว่า ตนเองเป็นใคร มีสิทธิมากน้อยเพียงใด เป็นเจ้าของประเทศด้วยหรือไม่ และในฐานะเจ้าของประเทศควรจะมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรี หรือไม่อย่างไร มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคือ การต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบการเมืองแบบเปิด
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ แซมมูเอล ฮันติงตัน กล่าวว่า เป็นความจำเริญทางการเมือง (political modernization) เมื่อมีความจำเริญทางการเมืองเกิดขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทางการเมืองที่มีอาตมันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม มีกิจกรรม มีการแสดงออกในสถาบันทางการเมือง หรือในกลไกทางการปกครองของรัฐ เริ่มตั้งแต่การออกกฎหมาย การวางนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ ฯลฯ การสร้างสถาบันและกลไกเหล่านี้คือการพัฒนาการเมือง (political development) ฮันติงตันกล่าวว่า เมื่อความจำเริญทางการเมืองอยู่ในระดับสูง เช่น อยู่ในขั้นบวก 4 ตัว แต่การพัฒนาทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำคือบวก 1 ตัว ก็จะเกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาทางการเมืองกับความจำเริญทางการเมือง ผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่การ ผุกร่อนทางการเมือง (political decay) โดยใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาจนถึงขั้นเกิดจลาจลและสงครามกลางเมืองได้
สูตร.png
จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งในส่วนนี้ซึ่งเกิดขึ้นในหน่วยการเมืองหรือประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการตกหลังของการพัฒนาทางการเมือง เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุด การแก้ปัญหาจึงต้องอยู่ที่การยอมรับสภาพความเป็นจริงโดยผู้อยู่ในฐานะอำนาจและได้อภิสิทธิ์ต่างๆ ต้องยอมลดประโยชน์ที่ตนจะได้และทำการปฏิรูปการเมือง กระจายรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เปิดระบบการเมืองให้กว้างขึ้นด้วยการเปิดโอกาสให้มีกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองตนเอง การออกกฎหมายภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษาที่ดิน เพื่อให้มีการกระจายความร่ำรวยมั่งคั่งไปให้ทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันจะต้องมีการลดช่องว่างระหว่างคนต่างสถานะทางสังคม เริ่มตั้งแต่รูปแบบการดำรงชีวิต ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร การแต่งกาย การแสดงออกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา การบันเทิง ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวเพื่อจะลดความแตกต่างระหว่างนาครและชนบท ระหว่างคนรวยและคนจน ระหว่างคนที่อยู่ในสถานะสูงของสังคมและคนชั้นล่าง เพราะความแตกต่างที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นมูลฐานของความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีกระแสการเรียกร้องให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การสนับสนุนให้มีประชาสังคม และการมุ่งเน้นให้เกิดการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง

การแก้ไขความขัดแย้งในสังคม

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมจำเป็นต้องมีการแก้ไข มิฉะนั้นสังคมจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ความขัดแย้งที่เห็นชัดที่สุดก็คือการไม่มีความยุติธรรมทางสังคม อันได้แก่ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างนาครและชนบท ระหว่างคนรวยและคนจน และที่สำคัญที่สุดปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นไม่มีการเยียวยาอย่างแท้จริง อันจะเห็นได้จากตารางข้างล่างนี้

ตารางที่ 1
การกระจายรายได้ในช่วงเวลา พ.ศ. 2505-2533
กระจายรายได้1.png

ตารางที่ 2
การกระจายรายได้ในช่วงเวลา พ.ศ. 2535-2549
กระจายรายได้2.png
ที่มา: Medhi Krongkeaw (1979), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คำนวณจากเทปข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปีต่างๆ โดยใช้น้ำหนักถ่วงข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย), ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ประมวลผลโดยสำนักพัฒนาการเศรษฐกิจชุมชนและการกระจายรายได้ ใน อัศวิน ไกรนุช, (2550) รายงานการวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้จากการพัฒนาประเทศ.
นอกจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าวก็คือความเหลื่อมล้ำระหว่างนาครและชนบท ซึ่งสามารถจะเห็นได้เป็นรูปธรรม ในขณะที่นครหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ในประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกประการ มีถนนหนทางอันเป็นยอมรับกันในระดับสากล โดยทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนาเมืองดังกล่าวโดยภาษีที่เก็บได้จากประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันในหมู่คนยากจนที่เป็นชุมชนแออัดก็มีความเป็นอยู่ที่ขัดกับสุขลักษณะ บ้านเรือนตั้งอยู่บนน้ำครำ มีกลิ่นเหม็นของน้ำเน่ากระจายไปทั่ว พร้อมๆ กับการปล่อยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ภาพความขัดแย้งดังกล่าวนี้เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความไม่ยุติธรรมทางสังคม ขณะเดียวกันในขณะที่นครหลวงและเมืองใหญ่ๆ เต็มไปด้วยสีสัน สิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งถือว่าศิวิไลซ์ในสากล ในชนบทบางแห่งซึ่งผู้อาศัยอยู่มีสิทธิธรรมแห่งการเป็นพลเมืองหรือประชาชนโดยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีเสียงการเลือกตั้งหนึ่งเสียงเท่ากับคนอื่น กลับต้องอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น มีชีวิตที่รันทด ขาดปัจจัยสี่อันเป็นที่ยอมรับ ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา เมื่อมีการเปรียบเทียบตึกระฟ้าของผู้มีเงินกับหมู่บ้านทุรกันดารที่ขาดไฟฟ้าและน้ำประปา จะไม่มีคำอธิบายอันใดที่จะตอบประเด็นคำถามได้ว่า ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ยุติธรรมแล้วหรือ และเมื่อความตื่นตัวทางการเมืองเกิดขึ้นและเริ่มเห็นความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โอกาสของความขัดแย้งทางการเมืองย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย และไม่มีคำอธิบายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางรัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่นที่จะนำไปสู่ความหายข้องใจในหมู่ซึ่งเสียเปรียบในสังคมนี้ได้ ที่สำคัญคำอธิบายทางศาสนาที่ถือเป็นผลมาจากการกระทำในชาติก่อนก็ได้ขาดน้ำหนักไปอย่างมากในสังคมยุคโลกาภิวัตน์
ความเหลื่อมล้ำซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จะต้องแก้ไขด้วยการเมือง ด้วยการปฏิรูปการเมือง เพื่อจะนำไปสู่ระบบการเมืองการปกครองที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล มีกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมและเยียวยาความทุกข์ยากให้กับประชาชนได้ การพยายามพัฒนาระบบการเมืองดังกล่าวจะต้องมีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ ถึงจุดที่กล่าวได้ว่าเป็นเสมือนการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน อันนี้เป็นความจำเป็นเพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมในลักษณะการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน แผ่นดินอาจจะพลิกเองโดยประชาชนผู้เสียเปรียบซึ่งตื่นตัวทางการเมืองและเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมและประชาธิปไตย จะเป็นผู้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในขอบข่ายที่กว้างขวางในลักษณะพลิกแผ่นดินดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

บทสรุป

ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติ ในแง่หนึ่งมีการกล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญความขัดแย้งคือตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามได้นำไปสู่การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ การสื่อสารและการขนส่ง จึงมีการค้นคว้าวิจัยกันมากในเรื่องนี้ เมื่อสงครามสงบลงก็เกิดมีการใช้วิทยุสนามเพื่อการสื่อสารจนถึงการพัฒนาเครื่องบินรบมากลายเป็นเครื่องบินขนส่งและเครื่องบินโดยสาร เป็นต้น ความขัดแย้งในทางสังคมไปสู่การตรากฎหมาย กฎระเบียบ และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและศาลในระดับต่างๆ แต่ในขณะที่มีด้านดีของเหรียญ ด้านที่เป็นด้านลบก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เพราะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่สำคัญคือต่อระเบียบการเมืองอันประกอบด้วยระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจและค่านิยม
สังคมที่มีการพัฒนาแล้วจะต้องมีการจัดระเบียบการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและมีความชอบธรรมทางการเมือง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เมื่อใดก็ตามที่ปัญหาความขัดแย้งไม่สามารจะแก้ไขได้โดยระเบียบการเมืองที่มีอยู่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปฏิรูประเบียบการเมืองนั้น มิฉะนั้นความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปในลักษณะคาราคาซัง ซึ่งจะทำให้ผืนใยของสังคมและเศรษฐกิจเปราะบางและขาดวิ่นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงจุดที่ไม่สามารถจะนำมาปะผุหรือใช้ประโยชน์ได้ก็จะหมดทางเลือก อันตรายที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้เพราะมีตัวอย่างของประวัติศาสตร์หลายกรณีที่บ่งชี้ถึงการปล่อยปละละเลยในการแก้ไขปัญหา เครน บินตัน (Crane Brinton) ผู้ซึ่งเขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติ (The Anatomy of Revolution) ได้กล่าวถึงลักษณะร่วมที่ประเทศที่มีการปฏิวัติมีก่อนการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน อันได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคม ความไม่ไว้วางใจกันในกลุ่มผู้นำ การที่ชนชั้นปัญญาชน นักปราชญ์ ราชบัณฑิต หันเหความภักดีจากระบบสังคมที่เป็นอยู่ และที่สำคัญเศรษฐกิจที่พัฒนาไปได้อย่างดีเกิดความชะงักงันและทรุดต่ำลง ปัญหาทั้งหมดนี้ถูกกระทำให้รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อกลไกของรัฐอันได้แก่ ระเบียบการเมือง ระบบการบริหาร ฯลฯ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง ตัวแปรต่างๆ นี้ได้มาจากการศึกษาเปรียบเทียบการปฏิวัติฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และเม็กซิโก
ปฏิวัติจะหยุดยั้งได้ถ้ามีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ แต่การปฏิรูปนั้นต้องเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง เข้ากับรูปแบบการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการปฏิวัติทั่วไปก็คืออาจไม่ต้องใช้ความรุนแรง หากแต่ต้องใช้การกุมอำนาจรัฐและมีความมุ่งมั่นทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อให้ความขัดแย้งและปัญหาที่มีอยู่บรรเทาลงหรือสิ้นสุด จัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ที่เป็นระเบียบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีความชอบธรรมทางการเมือง การจัดระเบียบทางการเมืองขึ้นใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องมีการทำลายระเบียบการเมืองเก่า หรือองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีต หากแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานะและกิจกรรมในบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกาภิวัตน์ และที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมนั้นๆ อันมีผลมาจากกระบวนการ social mobilization ที่กล่าวโดยแซมมูเอล ฮันติงตัน ไว้อย่างมีนัยสำคัญตามที่ได้สาธยายมาแล้ว

ตัวอย่างคลิปวิดีโอ




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น